Neurath, Constantin Freiherr von (1873-1956)

นายคอนสแตนติน ไฟรแฮร์ ฟอน นอยรัท (๒๔๑๖-๒๔๙๙)

​​​​​​

     คอนสแตนติน ไฟรแฮร์ ฟอน นอยรัทเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๓๘ เป็นนักการทูตที่คัดค้านนโยบายต่างประเทศของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* หลังเยอรมนีเข้ายึดครองดินแดนของเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ นอยรัทได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิทักษ์จักรวรรดิไรค์แห่งโบฮีเมียและโมเรเวีย (Reich Protector of Bohemia and Moravia) ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ แต่การดำเนินนโยบายที่ ขาด ประสิทธิภาพในการปราบปรามขบวนการต่อต้านนาซี ของชาวเช็กทำให้ฮิตเลอร์สั่งพักงานเขาและแต่งตั้งให้ ไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน ไฮดริช (Reinhard Tristan Eugen Heydrich)* เป็นผู้ช่วยของเขาใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมชาวเช็กและกวาดล้างชาวยิว หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* นอยรัทถูกพิจารณาโทษในการพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trial)* ร่วมกับแกนนำพรรคนาซีคนอื่น ๆ อีก ๒๓ คน เขาถูกตัดสินจำคุก ๑๕ ปี แต่ปัญหาสุขภาพที่ทรุดโทรมและโรคภัยทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวก่อน กำหนดใน ค.ศ. ๑๙๕๔
     นอยรัทเกิดในตระกูลขุนนางชั้นผู้น้อยที่เมืองเคลนกลัทท์บาค (Klen Glattbach) รัฐเวือร์ทเทมแบร์ก (Württemberg) เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๗๓ เขาศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน (Tübingen) และมหาวิทยาลัยเบอร์ลินตามลำดับ หลังสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๙๒ เขาทำงานกับสำนักงานกฎหมายท้องถิ่นที่บ้านเกิดและต่อมาเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเบอร์ลินใน ค.ศ. ๑๙๐๑ ในปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๑ นอยรัทสมรสกับมารี เอากุสท์ โมเซอร์ ฟอน ฟิลเซค (Marie Auguste Moser von Filseek) ที่เมืองชตุทท์การ์ท (Stuttgart) มารีเป็นธิดาของคหบดีที่ มั่งคั่ง การสมรสจึงมีส่วนเสริมสถานะทางสังคมของนอยรัทให้เด่นขึ้นเพราะครอบครัวของภริยามีเส้นสายในแวดวงสังคมชั้นสูง ต่อมาทั้งคู่มีบุตรธิดารวม ๒ คน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๓-๑๙๐๘ นอยรัทเป็นรองกงสุลประจำกรุงลอนดอนและหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ เป็นที่ปรึกษาเอกอัครราชทูตเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ นอยรัทอาสาสมัครเข้าร่วมรบในหน่วยทหาร ราบจนบาดเจ็บและได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๔ เขากลับไปทำงานด้านการทูตอีกครั้งและได้รับแต่งตั้งเป็นที่ ปรึกษาเอกอัครราชทูตประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) จนถึงต้น ค.ศ. ๑๙๑๖
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๖ นอยรัทมีความคิดเห็นขัดแย้งทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรีเทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์ ฮอลล์เวก (Theobald von Bethmann Hollweg) เขาจึงลาออกจากตำแหน่ง แต่ในเวลาอันสั้นนอยรัทก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำของคณะรัฐบาลของรัฐเวือร์ทเทมแบร์กระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๘ เพื่อร่วมมือและประสานงานกับรัฐบาลกลางเยอรมัน แต่หลังการปราชัยของเยอรมนีในสงคราม นอยรัทกลับเข้าสู่วงการทูตอีกครั้งในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen) เดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๙๑๙ และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๓๐ เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงโรม ในช่วงประจำอยู่ที่ อิตาลี เขาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของ เบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำพรรคฟาสซิสต์อิตาลีในเหตุการณ์ "การเดินเข้ากรุงโรม" (March on Rome) ค.ศ. ๑๙๒๒ บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้ประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hildenburg)* พิจารณาที่จะแต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีใน คณะรัฐบาลชุดใหม่ของนายกรัฐมนตรีไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Brüning)* แห่งสาธารณรัฐไวมาร์ แต่เขาปฏิเสธและได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอนระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๓๒
     ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ นอยรัทถูกเรียกตัวกลับเยอรมนีและในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* ก็แต่งตั้งเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศใน คณะรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าคณะรัฐมนตรีบารอน (Cabinet of Baron) เนื่องจากรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายขุนนางผู้มั่งคั่ง แต่พาเพินก็ล้มเหลวในการบริหารประเทศจนต้องยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันได้เสียงร้อยละ ๓๗.๘ โดยได้ที่นั่ง ๒๓๐ จากจำนวน ๖๐๘ ที่นั่ง ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กจึงขอให้ฮิตเลอร์จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพาเพินแต่เขาปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์เสนอเงื่อนไขว่าเขาจะยอม จัดตั้งรัฐบาลผสมหากเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีและจะยังคงให้นอยรัทเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไป ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวและทำให้มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๒ ในครั้งนี้พรรคนาซีได้เสียงเพียงร้อยละ ๓๓.๕ โดยได้ที่นั่ง ๑๙๖ ที่นั่ง คูร์ท ฟอนชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* ผู้นำกองทัพจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศโดยประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กให้ความเห็นชอบ และเสนอให้เกรกอร์ ชตราสเซอร์ (Gregor Strasser)* ผู้นำพรรคนาซีที่ขัดแย้งกับฮิตเลอร์เข้าร่วมในคณะรัฐบาลด้วย โดยนอยรัทยังคงดำรงตำแหน่งเดิมในคณะรัฐบาลชุดใหม่แต่ชตราสเซอร์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในคณะรัฐบาลและ ชไลเชอร์ก็ล้มเหลวที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานของประชาชนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงลาออก ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กซึ่งถูกฟอน พาเพินโน้มน้าวให้แต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยเขาจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีเพื่อคอยคานอำนาจของฮิตเลอร์ จึงยอมตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ทั้งให้นอยรัทเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพราะเขาเป็นที่ ยอมรับในแวดวงการทูตระหว่างประเทศและสันทัดทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลี
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๓ เมื่อองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* จัดการประชุมลดกำลังอาวุธ (Disarmament Conference)* ขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อพิจารณาลดกำลังรบและควบคุมการใช้และการครอบครองอาวุธของนานาประเทศ นอยรัทเป็นผู้แทนของเยอรมนีที่ยังคงยืนกรานข้อเรียกร้องเดิมของเยอรมนีในการประชุมลดกำลังอาวุธในต้น ค.ศ. ๑๙๓๒ ที่จะให้มีการยกเลิกมาตรการทางทหารที่บังคับใช้กับเยอรมนีตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles ค.ศ. ๑๙๑๙)* และขอให้เยอรมนีมีอาวุธในครอบครองได้ เขาไม่เห็นด้วยกับประเด็นต่าง ๆ ของการลดกำลังอาวุธและการจัดกำลังรบที่นานาชาติเสนอ อย่างไรก็ตามที่ ประชุมก็ไม่สามารถตกลงกันได้ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการลดกำลังอาวุธรวมทั้งข้อเรียกร้องของเยอรมนี นอยรัทจึงประท้วงด้วยการเดินออกจากที่ ประชุมและเสนอแนะฮิตเลอร์ให้ เยอรมนีถอนตัวจากการเป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ในปลายปีเดียวกัน ญี่ปุ่นก็ลาออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติด้วย
     แม้นอยรัทจะประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ ทำให้เยอรมนีเริ่มมีบทบาทในการเมืองยุโรป และมักยอมรับคำสั่งจากฟือเรอร (Fuhrer)* แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่ชอบเขาเพราะเห็นว่านอยรัทเป็นคนของประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก และมีบุคลิกอ่อนแอทั้งชอบประนีประนอม ฮิตเลอร์จึงให้โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของเขาซึ่งเป็นคู่แข่งของนอยรัทจัดตั้งสำนักงานริบเบนทรอพ (Ribbentrop Bureau) ขึ้นทำงานคู่ขนานกับกระทรวงการต่างประเทศและต่อมาแต่งตั้งริบเบนทรอพซึ่งมักทำงานข้ามหน้าข้ามตานอยรัทเป็นเอกอัครราชทูตพิเศษโดยไม่ปรึกษานอยรัท แม้นอยรัทจะขุ่นเคืองแต่เขาก็ไม่ต่อต้าน เพราะยังคงต้องการอยู่ในตำแหน่งทั้งคิดว่าเขาสามารถสร้างชื่อให้ตนเองและทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้หากเกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ นอยรัทจึงมีส่วนผลักดันให้ริบเบนทรอพมีบทบาทสำคัญในการเจรจาลงนามในความตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี (Anglo- German Naval Agreement) เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๕ ความตกลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้เยอรมนีทำลายข้อกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซายได้สำเร็จโดยสามารถสร้างเรือดำน้ำและเรือรบได้ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจอังกฤษอย่างมาก ต่อมาในวันที่ ๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ นอยรัทซึ่งรับคำสั่งจากฮิตเลอร์ได้ประกาศประณามและยกเลิกสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaty of Locarno ค.ศ. ๑๙๒๕)* ที่รัฐบาลเยอรมันในสมัยกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* ได้ทำไว้กับฝรั่งเศส ในวันเดียวกันนั้นเอง เยอรมนีก็ส่งกองกำลังทหารเข้ายึดเขตปลอดทหารไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซายโดยทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสไม่ขัดขวาง เมื่อฮิตเลอร์แต่งตั้งริบเบนทรอพเป็นเอกอัครราชทูตประจำอังกฤษในเดือน กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ และให้รายงานเรื่องการต่างประเทศโดยตรงแก่เขา นอยรัทซึ่งไม่พอใจริบเบนทรอพจึงขอลาออกจากตำแหน่ง แต่ฮิตเลอร์ปฏิเสธเพราะเห็นว่านอยรัทจะเบี่ยงเบนความสนใจของนักการทูตต่างประเทศเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของเยอรมนีมาที่นโยบายต่างประเทศแบบฉาบหน้าของเยอรมนีได้
     ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๗ นอยรัทสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซีเพื่อให้ฮิตเลอร์ไว้วางใจเขามากขึ้น ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำไรค์คนสำคัญคนหนึ่งของหน่วยเอสเอส (SS - Schultzstaffel - Defence Unit)* ต่อมาฮิตเลอร์เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพนาซีและกระทรวงการต่างประเทศในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๔ เพื่อหารือการวางแผนเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของ เยอรมนีและการก่อสงคราม พันเอก เคานต์ฟรีดิชฮอสบัค (Friedich Hossbach) นายทหารคนสนิทของฮิตเลอร์ได้บันทึกการประชุมครั้งนี้ไว้ซึ่งในเวลาต่อมาเรียกว่าบันทึกช่วยจำฮอสบัค (Hossbach Memorandum)* หรือเอกสารฮอสบัค (Hossbach Protocol) บันทึกดังกล่าวกลายเป็นเอกสารชิ้นสำคัญในการพิจารณาคดีที่นูเรมเบิร์กหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ในการประชุมครั้งนั้น นอยรัทคัดค้านนโยบายรุกรานของฮิตเลอร์ที่จะขยายดินแดนไปทาง ตะวันออก (lebensraum) เพื่อช่วงชิงดินแดนของพวกสลาฟ ความคิดเห็นดังกล่าวทำให้ฮิตเลอร์ไม่พอใจเขาอย่างมาก และมีส่วนทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในต้นเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘
     แม้นอยรัทจะถูกปลดจากตำแหน่ง แต่เขาก็ยังคงร่วมในคณะรัฐบาลนาซีโดยเป็นรัฐมนตรีลอย และยังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ประชุมคณะรัฐมนตรีลับ (President of the secret Cabinet Council) เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๘ เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ฟือเรอร์ด้านนโยบายต่างประเทศ แต่โดยข้อเท็จจริงเป็นเพียงสภากระดาษเท่านั้น รวมทั้งเป็นสมาชิกสภาป้องกันแห่งจักรวรรดิไรค์ (Reich Defense Council) ต่อมา เมื่อเยอรมนีละเมิดความตกลงมิวนิก (Munich Agreement ค.ศ. ๑๙๓๘)* ด้วยการส่งทหารเข้ายึดครองโบฮีเมีย (Bohemia) และโมเรเวีย (Moravia) ในเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ฮิตเลอร์ได้ออกกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ จัดตั้งรัฐในอารักขา (Protectorate) ขึ้นโดยระบุว่าดินแดนใหม่ที่ได้มาต้องรวมเข้า เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ ซึ่งมีนัยว่าสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกียได้ถูกลบหายจากแผนที่ และโบฮีเมียและโมเรเวียจะยังคงความเป็นอธิปไตยไว้ได้ก็ต่อเมื่อดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของเยอรมนีตามที่กำหนดไว้ ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งนอยรัทเป็นผู้พิทักษ์ จักรวรรดิไรค์แห่งโบฮีเมียและโมเรเวียเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙
     นอยรัทบริหารปกครองเชโกสโลวะเกียโดยเข้าควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวด เขายุบสภาและยกเลิกพรรคการเมือง สหภาพแรงงานรวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์อุตสาหกรรมเชโกสโลวะเกียต้องผลิตเพื่อตอบสนอง นโยบายสงครามของเยอรมนี มีการออกกฎหมายห้ามชาวยิวเข้าทำงานราชการและในวงการธุรกิจต่าง ๆ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ นอยรัทสั่งจับกุมพลเมืองเช็กที่ต้องสงสัย๘,๐๐๐ คนซึ่งจำนวนไม่น้อยในเวลาต่อมาเสียชีวิตใน ค่ายกักกัน (Concentration Camp)* การจับกุมดังกล่าวได้นำไปสู่การชุมนุมต่อต้านของนักศึกษาชาวเช็กอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ฮิตเลอร์ตอบโต้ด้วยการสั่งให้นอยรัทปิดมหาวิทยาลัยทั้งหมด ๓ ปีและจับขังนักศึกษารวม ๑,๒๐๐ คน ขณะเดียวกันแกนนำนักศึกษา ๙ คนก็ถูกหน่วยเอสดี (SD - Sicherheitsdienst - Intelligence and Security Body)* ที่รับคำสั่งจากไฮน์ริชฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* สังหารโดยนอยรัทเป็นผู้ลงนามเห็นชอบ
     แม้นอยรัทพยายามเอาใจฮิตเลอร์ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่าง แต่เขาก็พยายามผ่อนปรนต่อมาตรการการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นเยอรมัน (Germanization) และนโยบายการกวาดล้างชาวยิว เขา พยายามประวิงเวลาในการออกกฎหมายต่อต้านชาวยิวเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวยิวได้เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและไม่ปราบปรามขบวนการต่อต้านนาซีอย่างเด็ดขาด การอะลุ้มอล่วยดังกล่าวทำให้ ฮิตเลอร์ไม่พอใจ เขาจึงเรียกนอยรัทกลับเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อชี้แนะการปรับนโยบายการปกครองและแต่งตั้งไรน์ฮาร์ด ไฮดริชให้เป็นรองผู้พิทักษ์จักรวรรดิไรค์แห่งโบฮีเมียและโมเรเวีย (Deputy Reich Protector of Bohemia and Moravia) ในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อให้ควบคุมงานบริหารและการกวาดล้างชาวยิวโดยตรง ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ไฮดริชจัดตั้งเขตเกตโต (Ghetto) ขึ้นที่แทร์ซีนชตัดท์ (Thersienstadt) เพื่อใช้ควบคุมกักบริเวณชาวยิวที่ สูงอายุและสั่งประหารชาวเช็ก ๓๙๔ คนที่ถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อจักรวรรดิไรค์ทั้งให้จัดทำสถิติจำนวนชาวยิวที่ถูกกวาดล้างในแต่ละวันในเวลาอันสั้นไฮดริชจึงได้รับสมญาว่า "นักชำแหละแห่งกรุงปราก" (Butcher of Prague) นอยรัทไม่พอใจต่อการดำเนินงานดังกล่าวและขอลาออกจากตำแหน่งผู้พิทักษ์จักรวรรดิไรค์แห่งโบฮีเมียและโมเรเวีย แต่ฮิตเลอร์เพิกเฉยต่อการลาออกของเขาและให้เขาลางานได้โดยไม่มีกำหนดเวลาแต่ต่อมาก็ยอมให้ลาออกได้เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๓
     ในปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ นอยรัทถูกกองกำลังฝ่ายพันธมิตรจับกุมและต่อมาถูกนำตัวขึ้นศาลพิเศษพิจารณาคดีอาชญากรสงครามแห่งนูเรมเบิร์ก (Nuremberg War Crimes Tribunal) ในการพิจารณา คดีที่นูเรมเบิร์ก ค.ศ. ๑๙๔๖ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม ก่อสงครามต่อสันติภาพ วางแผนและก่อสงครามเพื่อการรุกราน รวมทั้งก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ นอยรัทถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้ง ๔ ข้อหาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ และต้องโทษคุมขังที่คุกสปันเดา (Spandau) ในนครเบอร์ลินตะวันตกรวม ๑๕ ปี แต่หลังการจำคุกได้ ๘ ปีเขาได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๔ เนื่องจากล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ เขากลับมาใช้ชีวิตที่คฤหาสน์ไลน์เฟลเดอร์ (Leinfelder) ซึ่งอยู่ใกล้เมืองชตุทท์การ์ทและอีก ๒ ปีต่อมาเสียชีวิตที่เอนซ์ไวฮิงเงิน (Enzweihingen) เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ รวมอายุได้ ๘๓ ปี.



คำตั้ง
Neurath, Constantin Freiherr von
คำเทียบ
นายคอนสแตนติน ไฟรแฮร์ ฟอน นอยรัท
คำสำคัญ
- สปันเดา, คุก
- ศาลพิเศษพิจารณาคดีอาชญากรสงครามแห่งนูเรมเบิร์ก
- ค่ายกักกัน
- ความตกลงมิวนิก
- บันทึกช่วยจำฮอสบัค
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- องค์การสันนิบาตชาติ
- ไรน์แลนด์, เขตปลอดทหาร
- ความตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี
- ชเตรเซมันน์, กุสทาฟ
- ฟือเรอร์
- ริบเบนทรอพ, โยอาคิม ฟอน
- ชตราสเซอร์, เกรกอร์
- การประชุมลดกำลังอาวุธ
- ฮอลล์เวก, เทโอบัลด์ ฟอน เบทมันน์
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สาธารณรัฐไวมาร์
- เวือร์ทเทมแบร์ก, รัฐ
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ฟิลเซค, มารี เอากุสท์ โมเซอร์ ฟอน
- ชตุทท์การ์ท, เมือง
- ชไลเชอร์, คูร์ท ฟอน
- บรือนิง, ไฮน์ริช
- โคเปนเฮเกน, กรุง
- เคลนกลัทท์บาค, เมือง
- คอนสแตนติโนเปิล, กรุง
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน
- การเดินเข้ากรุงโรม
- คณะรัฐมนตรีบารอน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- นอยรัท, คอนสตันติน ไฟรแฮร์ ฟอน
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- โบฮีเมีย
- เชโกสโลวะเกีย
- โมเรเวีย
- สภาป้องกันแห่งจักรวรรดิไรค์
- หน่วยเอสเอส
- เอกสารฮอสบัค
- หน่วยเอสดี
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- ฮอสบัค, เคานต์ฟรีดิช
- เกตโต, เขต
- การเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นเยอรมัน
- แทร์ซีนชตัดท์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1873-1956
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๖-๒๔๙๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf